นักวิจัยค้นพบปลาสองชนิดใหม่ในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนในบราซิล หวั่นใกล้สูญพันธุ์จากภัยคุกคามรอบด้าน ชี้ปัจจุบันป่าแอมะซอนถูกคุกคามหนัก จากการตัดไม้ทำลายป่า การขยายพื้นที่ทำการเกษตร และการทำเหมือง
เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิจัยตีพิมพ์งานศึกษาที่ระบุถึง การค้นพบปลาสองชนิดใหม่ ใน
วงศ์ย่อยที่รู้จักกันว่า South American darters (ดาร์เตอร์) ภายในลุ่มแม่น้ำแอมะซอน โดยปลาสองสายพันธุ์ใหม่นี้ ได้แก่ Poecilocharax callipterus ที่มีครีบยาวสีส้มอมแดง และมีจุดสีเข้มใกล้กับหาง และ Poecilocharax rhizophilus ปลาดาร์เตอร์ขนาดเล็กที่สุด (ประมาณ 2 เซนติเมตร) ซึ่งมีจุดเด่นเป็นครีบสีเหลืองและท้องสีเงิน
อันที่จริงแล้วปลาทั้งสองชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรก ระหว่างที่ Murilo Pastana นักวิจัยจาก Smithsonian National Museum of Natural History พร้อมกับนักวิจัยคนอื่น ๆ เดินทางไปสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของปลาน้ำจืด ในลุ่มแม่น้ำ Madeira ในช่วงปี 2015 ถึง 2016 โดยพวกเขาได้เดินทางเข้าไปสำรวจจุดที่ยังไม่เคยมีนักวิจัยคนไหนเข้าไปถึงมาก่อน
แต่หลังจากที่นักวิจัยดึงแหขึ้นจากน้ำ พวกเขาก็ต้องตกตะลึง เพราะได้พบกับปลาชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน “ปลาในสกุล Poecilocharax ได้รับการจำแนกเป็นครั้งสุดท้ายในปี 1965 นั่นมันมากกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วเชียวนะ” Pastana กล่าว หลังจากนั้น นักวิจัยได้ทำการถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างปลาเพื่อส่งไปวิจัยต่อที่ University of São Paulo
โดยนักวิจัยพบ P. rhizophilus ตัวเล็กจิ๋วพุ่งตัวไปมาระหว่างรากไม้ภายในลำธารขุ่น ๆ ส่วน P. callipterus นั้น พวกเขาพบแค่ในลำธารแห่งเดียวที่มีเนื้อที่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แม้จะเพิ่งถูกค้นพบไปไม่นาน แต่นักวิจัยก็กังวลว่าปลาทั้งสองชนิดนี้กำลังจะสูญพันธุ์ เนื่องจากพวกมันมีแถบอาศัยที่ค่อนข้างแคบ และอาจกลายเป็นที่สนใจของตลาดปลาสวยงามได้
อย่างไรก็ดี Pastana กล่าวว่า ข้อมูลที่พวกเขาเก็บได้ระหว่างการสำรวจครั้งนี้ น่าจะเพียงพอต่อการขึ้นทะเบียนปลาทั้งสองสายพันธุ์เป็นสัตว์ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตามเกณฑ์ของ IUCN แต่เขาเชื่อว่า P. callipterus ควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต
ในขณะเดียวกัน ป่าแอมะซอนเองก็นับว่าอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง เพราะว่ากำลังถูกคุกคามจากการทำเหมือง การตัดไม้ทำลายป่า และการขยายพื้นที่ทำการเกษตร โดยทั้งหมดนี้ปราศจากการบังคับใช้กฎหมาย
“จุดมุ่งหมายหลักของผมในตอนนี้ คือการมอบชื่อให้กับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้รับการจำแนก เพราะผมหวังว่าสัตว์เหล่านี้จะมีชื่อเรียก ก่อนที่แหล่งอาศัยของพวกมันจะถูกทำลายไป” Pastana กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา