รายงานของ State of Wildfires ระบุว่า ไฟป่าในแคนาดาเมื่อปีที่แล้ว ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกือบเท่ากับที่เคยมีมาในทศวรรษ
รายงานระบุว่า สำหรับไฟป่าในแคนาดานั้น ยังคงมีโอกาสเกิดสูงกว่าปกติถึง 3 เท่า และทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2 พันล้านตัน หรือเทียบเป็น 1 ใน 4 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากไฟป่าทั่วโลก ขณะที่ผลกระทบต่อสุขภาพจากไฟป่าในปีที่แล้วจะยังคงส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายทศวรรษ
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากไฟป่าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปีที่แล้ว (2023) มีปริมาณสูงถึง 8.6 พันล้านตัน ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสหรัฐฯ ที่นับรวมทุกแหล่งแล้วอยู่ที่ 4.8 พันล้านตันต่อปี ทว่าผลกระทบของไฟป่าน่าจะลดลงเนื่องจากพืชพรรณใหม่ที่เติบโตจะช่วยดูดซับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศได้
แมทธิว โจนส์ (Matthew Jones) นักวิจัยจาก Tyndall Centre for Climate Change Research เตือนว่า ความเสียหายจากไฟป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้นจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป เว้นแต่โลกจะประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไฟป่าไม่เพียงแต่คร่าชีวิตผู้คน สัตว์ป่า และปศุสัตว์เท่านั้น แต่ยังทำลายต้นไม้และภูมิทัศน์อื่นๆ อีกด้วย อีกทั้งยังทำให้เกิดมลพิษทางอากาศที่แพร่หลายและเป็นอันตรายได้
ไฟป่ายังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการทำลายพืชพรรณและดิน
ในแคนาดา มีพื้นที่ถูกไฟไหม้มากกว่าค่าเฉลี่ยของปีปกติถึง 6 เท่า ถือเป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว
ข้อมูลแยกจากสถาบันทรัพยากรโลกระบุว่าในปี 2023 พื้นที่ป่าถูกไฟไหม้เกือบ 12 ล้านเฮกตาร์ (ขนาดใกล้เคียงกับประเทศนิการากัว) ซึ่งมากกว่าสถิติเดิมในปี 2016 ประมาณ 1 ใน 4 ระหว่างปี 2001-2023 พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้มีเพิ่มขึ้นประมาณ 5.4% ต่อปี ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ปกคลุมสูญหายเกือบ 6 ล้านเฮกตาร์ต่อปีเมื่อเทียบกับปี 2001 (ขนาดใกล้เคียงกับประเทศโครเอเชีย)
ไฟป่าไม่ได้เกิดขึ้นจากความร้อนสูงเท่านั้น แต่ยังต้องมีพืชพรรณที่แห้งแล้งจำนวนมาก รวมถึงการจุดไฟในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการเผาไหม้และต่อเนื่อง รายงานระบุว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อป้องกันไฟป่าในอนาคต แต่การจัดการที่ดินและระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ดีขึ้นก็อาจช่วยได้เช่นกัน
แม้แต่พื้นที่ชุ่มน้ำและป่าฝนชื้นก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟไหม้ เนื่องจากภัยแล้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้แผ่ปกคลุมพื้นที่ดังกล่าว ภูมิภาคปันตานัลของบราซิลได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สำคัญในโลก
แม้ว่าการปลูกป่าใหม่จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้ในขณะที่มันเติบโต ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการดูดซับคาร์บอน ทว่าการเกิดไฟป่าบ่อยครั้งได้สร้างแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากพืชพรรณก็จะมีโอกาสฟื้นตัวน้อยลง จึงทำให้ไฟไหม้กลายเป็นแหล่งคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น